การเรียนรู้ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) นั้นจะเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการที่นักเรียนได้แปลความหมายของความคิดรวบยอด หลักการ กฎเกณฑ์ สมมติฐาน ความสัมพันธ์ ฯลฯ นักเรียนจะต้องอาศัยการแปลความหมายด้วยตนเอง (Personal interpretation) ซึ่งอาจจะมีการเพิ่ม การตัด การขยายการดัดแปลงข้อมูลนั้นๆ ครูไม่สามารถให้ความรู้แก่นักเรียนได้ เพราะ ความรู้นั้นนักเรียนจะต้องสร้างขึ้นเอง ดังนั้น ครูผู้สอนต้องใช้ยุทธวิธีการสอนเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสสะท้อนความคิด ต้องสอนข้อมูลที่มีความหมาย กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ ที่มีอยู่เดิมและมีความสัมพันธ์กับนักเรียน การสอนที่ดีจะต้องให้นักเรียนได้ค้นพบและนำไปประยุกต์ใช้ได้กับตนเอง หน้าที่สำคัญของนักเรียน คือ จะต้องทำการตรวจสอบข้อมูลใหม่กับข้อมูลเดิมอยู่อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อใดก็ตามที่พบว่าข้อมูลเดิมใช้ไม่ได้ ต้องรีบทำการปรับปรุงแก้ไข หน้าที่สำคัญของผู้สอน คือ สอนให้นักเรียนรู้จักคิด และต้องคำนึงอยู่เสมอว่าความรู้นั้นเป็นกระบวนการมิใช่ผลผลิตที่สำเร็จรูป (Knowing is a process, not a product)
Bell (1993; อ้างถึงใน จิราภรณ์ ศิริทวี, 2542: 2) ให้ความเห็นว่าการเรียนรู้ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) ไม่ใช่เป็นการเติมสมองที่ว่างเปล่าของนักเรียน ให้เต็มแต่เป็นการพัฒนาความคิด ในลักษณะการสร้างความคิดจากพื้นความคิดเดิมมากกว่า การดูดซึมความคิด
Cobb (1994; อ้างถึงใน จิราภรณ์ ศิริทวี, 2542 : 2) ให้ความเห็นว่าการเรียนรู้ ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) เป็นกระบวนการที่ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ นักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยการสร้าง รวบรวม ปรับเปลี่ยนสภาพการณ์รอบๆ ตัว มาอธิบายสิ่งที่กำลังศึกษา การประสานสัมพันธ์ กันระหว่างครูกับนักเรียน สิ่งแวดล้อมรอบตัวนักเรียนมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของ นักเรียน นอกจากนี้ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวนักเรียน ภาษาและวัฒนธรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน
ที่มา : จิราภรณ์ ศิริทวี. (2542, สิงหาคม). “โครงงานทางเลือกใหม่ของการสร้างปัญญาชน,”
วารสารวิชาการ. 2(8) : 33 – 33.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น