วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

บทบาทของครูผู้สอนตามแนวคอนสตรัคติวิสต์

บทบาทของครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist)
บทบาทของครูในการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) ต้องให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของนักเรียน จะช่วยให้ครูจัดการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียน กิจกรรมการสอนต้องท้าทายความคิด หรือประสบการณ์ของเด็ก โดยใช้คำถาม ถามเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กรู้และเด็กคิด สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน เปิดโอกาสให้เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการพูดคุย ซักถาม สังเกต และตัดสินใจอย่างมีอิสระ เชื่อมั่นในตนเอง กล้าทดลองในสิ่งใหม่ๆ รวมถึงการ เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง
วัฒนาพร ระงับทุกข์ (2542 :12 - 14) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูในการจัดการเรียน
การสอนตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ว่าประกอบด้วย
1. บทบาทด้านการเตรียมการประกอบด้วย
1.1 การเตรียมตนเอง ครูจะต้องเตรียมตนเองให้พร้อมสำหรับบทบาทของผู้เป็นแหล่งความรู้ (Resource person) ซึ่งต้องให้คำอธิบายคำแนะนำ คำปรึกษา ให้ข้อมูลความรู้ที่ชัดเจนแก่นักเรียน รวมทั้งแหล่งความรู้ที่จะแนะนำ ให้นักเรียนไปศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลได้ ดังนั้น ครูจะต้องมีภาระหนักเตรียมตนเองด้วยการอ่าน การค้นคว้า การทดลองปฏิบัติมากๆ ในหัวข้อเนื้อหาที่ตนรับผิดชอบรวมทั้งข้อมูลประสบการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
1.2 การเตรียมแหล่งข้อมูลความรู้แก่นักเรียนทั้งในรูปแบบของสื่อการเรียน ใบความรู้และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ประกอบกิจกรรมในห้องเรียน หรือศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองที่มีข้อมูลความรู้ที่นักเรียนสามารถเลือกศึกษาค้นคว้าตามความต้องการ หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ รวมไปถึงแหล่งเรียนรู้ภายนอกโรงเรียนด้วย
1.3 การเตรียมกิจกรรมการเรียนบทบาทของครูก่อนการเรียนการสอนทุกครั้ง คือ
การวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนด ครูจะต้องวิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้ เพื่อให้ได้สาระสำคัญ และเนื้อหาข้อความรู้ อันจะนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนมีบทบาทในการเรียนรู้ตามที่กำหนด โดยบทบาทในส่วนนี้ครูจะทำหน้าที่คล้ายผู้จัดการ (Manager) ที่กำหนดบทบาทการเรียนรู้และความรับผิดชอบแก่นักเรียนให้เขาได้มาทำกิจกรรมตามความต้องการ ความสามารถ และความสนใจของแต่ละคน
1.4 การเตรียมสื่อวัสดุ อุปกรณ์ เมื่อออกแบบหรือกำหนดกิจกรรมการเรียนแล้ว ครูจะต้องพิจารณาและกำหนดว่าจะใช้สื่อ วัสดุอุปกรณ์ใด เพื่อให้กิจกรรมการเรียนดังกล่าว บรรลุผลแล้วจัดเตรียมให้พร้อม บทบาทของครูจึงเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitater)
1.5 การเตรียมวิธีการวัดและการประเมินผลครูจะต้องเตรียมการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น โดยการวัดให้ตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้และวัดให้ครอบคลุมทั้งในส่วนของกระบวนการ (Process) และผลงาน (Product) ที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านพุทธิพิสัย (Cognitive) จิตพิสัย (Affective) และทักษะพิสัย (Psychomotor) โดยเตรียมวิธีการวัดและ เครื่องมือวัดให้พร้อมก่อนทุกครั้ง
2. บทบาทด้านการดำเนินการเป็นบทบาทขณะนักเรียนดำเนินการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย
2.1 การเป็นผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำปรึกษา (Helper and Advisor) คอยให้คำตอบเมื่อนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ เช่น ให้ข้อมูลหรือความรู้ในเวลาที่นักเรียนต้องการเพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2.2 การเป็นผู้สนับสนุนและเสริมแรง (Support and Encourager) ช่วยสนับสนุนหรือกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ เข้าร่วมกิจกรรมหรือลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
2.3 การเป็นผู้ร่วมทำกิจกรรม (Active participant) โดยเข้าร่วมทำกิจกรรมในกลุ่มนักเรียนพร้อมทั้งให้ความคิดและความเห็นหรือช่วยเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวของนักเรียนขณะทำกิจกรรม
2.4 การเป็นผู้ติดตามตรวจสอบ (Monitor) ตรวจสอบผลการทำงานตามกิจกรรมของนักเรียนเพื่อให้ถูกต้องชัดเจนและสมบูรณ์ก่อนให้นักเรียนสรุปเป็นข้อความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้
2.5 การเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นมิตรโดยการสนับสนุนเสริมแรงและกระตุ้นให้นักเรียนได้เข้าร่วมทำงานกับกลุ่ม แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยเต็มที่ ยอมรับฟัง
ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และอภิปรายโต้แย้งด้วยท่วงท่านุ่มนวล ให้เกียรติกันอย่างเป็นมิตรโดย
มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป้าหมายของกลุ่มบรรลุความสำเร็จ
3. บทบาทด้านการประเมินผลครูผู้สอน ครูผู้สอนต้องดำเนินการเพื่อตรวจสอบประกอบด้วย
3.1 ความสามารถในการจัดจัดการเรียนการสอนบรรลุผลตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้หรือไม่
3.2 ทั้งนี้ครูควรเตรียมเครื่องมือและวิธีการให้พร้อมก่อนถึงขั้นตอนการวัดผลและประเมินผลทุกครั้ง และการวัดควรให้ครอบคลุมทุกด้าน
3.3 เน้นการวัดผลตามสภาพจริง (Authentic measurement) จากการปฏิบัติ(Performance) และจากแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) ซึ่งในการวัดและประเมินผลนี้นอกจากครูจะเป็นผู้วัดและประเมินผลเองแล้ว นักเรียนและสมาชิกแต่ละกลุ่มควรจะมีบทบาทร่วมวัดผลและประเมินผลตนเองและกลุ่มด้วย
ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) นั้นมิใช่หมายความแต่เพียงว่าให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมอะไรๆ ก็ได้ที่นักเรียนชอบกิจกรรมที่ครูจัดให้ นักเรียนจะต้องเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ และเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม และอารมณ์นักเรียนเป็นเจ้าของความคิดมากกว่าเป็นผู้รับข่าวสารหรือซึมซับข้อมูล นักเรียนจะเรียนรู้ด้วยความเข้าใจและสิ่งที่นักเรียนเข้าใจเป็นสิ่งที่นักเรียนสร้างขึ้น ควรให้โอกาสกับนักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างสร้างสรรค์เพื่อจุดประกายการเรียนรู้ในตัวนักเรียน เป็นเรื่องที่จะต้องให้นักเรียนทดลองทำด้วยตนเองเหมือนกับการฝึกสมาธิ เพื่อทำให้เกิดประสบการณ์ด้วยตนเอง แล้วนำเอาความรู้สึก บรรยากาศ ประสบการณ์ที่ได้รับไปคิดต่อทำต่อด้วยตนเอง และนำผลที่ได้มาพูดคุย แลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ผลที่ได้รับจากการดำเนินการของแต่ละบุคคลถือเป็นการเรียนรู้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลว โดยไม่มีการลอกเลียนแบบแนวคิดจากครู โดยสิ่งที่เรียนและวิธีเรียนมีผลกระทบจากบริบทของสังคมซึ่งการเรียนรู้เกิดขึ้นรวมถึงบริบทของห้องเรียน บทบาทของครูคือผู้ชี้แนะผู้อำนวยความสะดวก เป็นผู้จัดการให้เกิดการเรียนรู้และการสื่อสารของครูจะเป็นลักษณะกระตุ้นให้นักเรียนคิดโดยจะไม่บอกหรือตอบคำถามนักเรียนตรงๆ นักเรียนต้องเรียนรู้วิธีการแปลความหมายสิ่งที่ครูพูดเพื่อนำมาใช้ในการหาคำตอบที่นักเรียนต้องการคำตอบ ครูต้องเห็นความสำคัญและมีเจตคติที่ดีต่อกระบวนการเรียนรู้ด้วยปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น